โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
เท ตุ่มเงิน, สรีสอางค์ บุญพระ
ลักษณะโรค
เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย มักแสดงอาการแบบสมองและเยื่อสมองอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คันหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด ต่อมาจะหงุดหงิด ตื่นเต้น ไวต่อสิ่งเร้า (แสง เสียง ลม ฯ) ม่านตาขยาย น้ำลายไหลมากกล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็งขณะที่ผู้ป่วยพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ “กลัวน้ำ” เพ้อคลั่งสลับกับอาการสงบ ชัก ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการแบบอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง กรณีไม่ได้รับการรักษาประคับประคอง มักป่วยอยู่ประมาณ 2 - 6 วัน และเสียชีวิตเนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจ การวินิจฉัยยืนยันโรคทำได้โดยการย้อมสีเนื้อสมองของผู้เสียชีวิต แล้วตรวจด้วย FA test หรือโดยการเพาะแยกเชื้อในหนูหรือเซลล์เพาะเลี้ยง ในผู้ป่วยอาจทำโดยการตัดชิ้นเนื้อโคนผมบริเวณท้ายทอย การตรวจทาง serology ทำได้โดย Neutralization test ในหนูหรือในเซลล์เพาะเลี้ยง
เชื้อก่อโรค
เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies เป็น Rhabdovirus ใน genus “Lyssa virus” ซึ่งไวรัสทุกตัวใน genus นี้ มี antigenicity ที่คล้ายคลึงกัน แต่จากการทดสอบด้วย Monoclonal antibody พบว่าไวรัสแต่ละตัวมี nucleocapsid และรูปแบบของ surface protein ที่อาจแตกต่างกันในสัตว์แต่ละชนิดหรือในแต่ละภูมิภาคของโลก มีรายงานว่าเชื้อไวรัสที่คล้ายกับไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งพบในทวีปอัฟริกา (เชื้อไวรัส Mokola และ Duvenhage) และในทวีปยุโรป (เชื้อไวรัส Duvenhage) ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในบางครั้งเมื่อตรวจด้วย FA test จะให้ผลบวกด้วยเช่นกัน แต่โรคเหล่านี้พบไม่บ่อยนัก
การเกิดโรค
พบได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา คาดว่ามีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 30,000 คน ในประเทศไทย ผู้เสียชีวิตแนวโน้มลดลงตามลำดับ จาก 370 คนในปี พ.ศ.2523 เป็น 74 คน ในปี พ.ศ.2538 พื้นที่ที่ปลอดจากโรคนี้แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ นิวกินี ญี่ปุ่น ฮาวายไต้หวัน หมู่เกาะแปซิฟิก อังกฤษ ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ปอร์ตุเกตุ บางส่วนของหมู่เกาะอินเดียตะวันตก และแอตแลนติก สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง และมาเลเซีย โรคพิษสุนัขบ้าในทวีปเอเซียมักมีสุนัขเป็นสัตว์ นำโรคที่สำคัญ ปัจจุบันในทวีปยุโรปยังมีปัญหาในสัตว์ป่า เช่น สุนัขจิ้งจอก ซึ่งหลังจากมีการใช้วัคซีนชนิดกิน (Oral rabies vaccine) ทำให้อุบัติการของโรคลดลงไปมาก โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ สามารถกำจัดโรคไปได้ในปี ค.ศ. 1986 แต่ยังมีรายงานโรคนี้ในค้างคาวในเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และเยอรมันตะวันตก ส่วนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ยังมีปัญหาโรคนี้ในสัตว์ป่า เช่น สกั้งค์ แรคคูน และค้างคาว
แหล่งรังโรค
ได้แก่ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า หมาไน สกั้งค์ แรคคูน พังพอน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่น ๆ ในเม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ มีค้างคาวดูดเลือด ค้างคาวกินผลไม้ และค้างคาวกินแมลง เป็นสัตว์นำโรค ในประเทศกำลังพัฒนา สุนัขเป็น แหล่งรังโรคที่สำคัญ กระต่าย กระรอก หนูแร็ท และหนูไมซ์ อาจติดเชื้อได้แต่พบไม่บ่อยนัก
วิธีการติดต่อของโรค
เชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือน้อยมากที่พบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา ปาก จมูก ที่ไม่มีแผลหรือรอยฉีดขาด การติดต่อจากคนถึงคน สามารถเกิดได้ตามทฤษฎี เนื่องจากมีการพบเชื้อในน้ำลายของผู้ป่วย แต่ไม่เคยมีรายงานยืนยันที่แน่ชัด นอกจากการติดต่อโดยการปลูกถ่ายกระจกตา จากผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคของระบบประสาทส่วนกลาง การติดต่อโดยการหายใจพบน้อยมาก มีรายงานการติดต่อในถ้ำค้างคาว และในอดีตมีรายงานในห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ เนื่องจากมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในบรรยากาศสูงมากและขณะนั้นไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ การติดต่อโดยค้างคาวดูดเลือด ส่วนใหญ่พบในลาตินอเมริกา สำหรับในสหรัฐอเมริกามีรายงานติดโรคมาสู่คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยค้างคาวกินแมลง แต่พบได้น้อย
ระยะฟักตัว
ประมาณ 2-8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี ระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางประการ ได้แก่ ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ และมือ จะมีระยะฟักตัวสั้น จำนวนและความรุนแรงของเชื้อก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อผ้า หรือการล้างแผลจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก
ระยะติดต่อของโรค
สุนัขและแมวอาจแพร่เชื้อได้ 3 - 10 วันก่อนเริ่มแสดงอาการป่วย (พบน้อยมากที่จะเร็วกว่า 3 วัน) และตลอดเวลาที่สัตว์ป่วย ในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว และสกั้งค์ มีรายงานการปล่อยเชื้อในน้ำลายได้เร็วถึง 8-18 วันก่อนแสดงอาการ
ความไวและความต้านทานต่อการรับเชื้อ
สัตว์เลือดอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดไวต่อโรคนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าคนมีความต้านทานโรคที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
วิธีการควบคุมโรค
มาตรการป้องกัน
1. จดทะเบียนและออกใบอนุญาตเลี้ยงสุนัข และฉีดวัคซีนสุนัข จับและกำจัดสุนัขไม่มีเจ้าของ (อาจรวมถึงการฉีดวัคซีนแมวด้วย) และให้สุขศึกษาแก่เจ้าของสัตว์และประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมสุนัขและแมว ถือเป็นเรื่องสำคัญ คือ เมื่อนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านโดยเฉพาะในที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน จะต้องผูกล่ามสัตว์เลี้ยงไว้ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าที่มีท่าทางแปลก ๆ หรือมีอาการป่วย อาจก่ออันตรายได้จึงไม่ควรจับหรืออุ้ม ในกรณีที่มีสัตว์ป่วยหรือมีสัตว์กัดคนหรือกัดสัตว์อื่นๆ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือตำรวจในท้องที่ และกักขังเพื่อสังเกตอาการสัตว์นั้น ไม่ควรนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง เพราะอาจนำโรคนี้มาสู่คนได้ ในสภาพสังคมที่ยังไม่เอื้ออำนวยในการดำเนินมาตรการข้างต้นอย่างเข้มงวด จำเป็นต้องให้วัคซีน แก่สุนัขทั้งหมดเป็นประจำ
2. สุนัขและแมวที่กัดคน (แม้ว่ามีอาการปกติขณะที่กัด) ต้องกักขังไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หรืออาจทำลายสัตว์นั้นทันที และส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการสุนัขและแมวที่มีอาการผิดปกติควรทำลาย และส่งตรวจทันทีสุนัขและแมวที่มีราคาหรือเจ้าของไม่ต้องการทำลาย ต้องระมัดระวัง ถ้าทำได้ควรกักขังและสังเกตแสดง ซึ่งปกติแล้วหากสัตว์มีเชื้อในวันที่กัด ก็มักจะเริ่มมีอาการของโรคภายใน 5 - 8 วัน เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ต่อมาจะมีอาการแบบบ้าดุร้าย หรือแบบอัมพาต และตายในที่สุดสัตว์ป่าทุกชนิดควรทำลายและส่งตรวจทันที กรณีสัตว์ในสวนสัตว์กัดคน อาจจะเป็นการเหมาะสม ที่จะให้วัคซีน/ซีรั่ม แก่ผู้ถูกกัดมากกว่าที่จะทำลายสัตว์ ควรกักขังและสังเกตอาการภายใน 6-12 เดือน
3. ถ้ามีสัตว์ตาย ควรส่งหัวสัตว์ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยใส่ในถุงพลาสติก หนา ๆ และแช่ในน้ำแข็ง (ห้ามแช่แข็ง)
4. สุนัข แมว ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรทำลายทิ้งทันที หากไม่ทำลายต้องกักขังสัตว์ในกรงที่แข็งแรงนานอย่างน้อย 6 เดือน ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ และต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนอนุญาตให้เจ้าของรับกลับ ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ 1 เข็มทันที พร้อมทั้งกักบริเวณหรือผูกล่ามอย่างน้อย 3 เดือน
5. ผู้ที่เสี่ยงโรคสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเขตที่มีโรคชุก ควรได้รับการป้องกันโรคล่วงหน้า โดยฉีดวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงขนาด 1 มล. เข้ากล้ามเนื้อ หรือ 0.1 มล.เข้าในหนัง จำนวน 3 เข็ม ในวันที่ 0, 7 และ 28 ถ้ากำลังได้รับยา chloroquine ป้องกันโรคมาลาเรีย ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนเข้าในหนังเพราะภูมิคุ้มกันจะถูกกด ควรฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
6.การป้องกันหลังถูกสัตว์กัด ทำได้โดย
- การักษาบาดแผลสัตว์กัดทันทีเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิผลมากที่สุด กำจัดไวรัสที่แผลโดยการล้างและรักษาบาดแผลอย่างถูกต้องและทั่วถึงทันทีด้วยน้ำและสบู่ (ถ้าไม่มีอาจใช้ผงซักฟอก) เมื่อมาถึงสถานพยาบาล ควรได้รับการล้างแผลซ้ำ ถ้าแผลลึกต้องล้างให้ถึงก้นแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวีโดนไอโอดีน ไม่ควรเย็บแผล (เพราะรอยเย็บจะเอื้อให้เชื้อเข้าไปสู่ปลายประสาทได้ง่ายขึ้น) ถ้าจำเป็นต้องเย็บแผล ให้เย็บหลวม ๆ เพื่อเป็นช่องทางให้เชื้อที่อาจยังหลงเหลือได้มีการระบาย ออกไปได้ และต้องทำหลังจากฉีด Immune globulin เข้าที่แผลแล้วเท่านั้น
- การให้ภูมิคุ้มกันโรคโดยฉีด Rabies immune globulin (RIG) โดยเร็วที่สุดเพื่อทำลายเชื้อที่แผล และตามด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันRIG : ให้อิมมูโนโกลบุลินผลิตจากม้า (ERIG) ขนาด 40 IU/น้ำหนักตัว 1 กก. หรือให้ชนิดผลิตจากคน (HRIG) ขนาด 20 IU/น้ำหนักตัว 1 กก. ควรพยายามฉีดเข้าที่แผลให้ได้มากที่สุด ถ้ายังเหลืออยู่จึงฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก วัคซีน : การฉีดวัคซีน 1 มล. เข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน 5 เข็ม ในวันที่ 0,3, 7, 14 และ 30 ถือเป็นวิธีมาตรฐาน หรืออาจฉีดวัคซีนเข้าในหนัง 2 จุด ในวันที่ 0, 3, 7 และ 1 จุดในวันที่ 30 และ 90 ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกัน แนวทางการตัดสินใจว่าจะให้การป้องกันด้วยวัคซีน/RIG ทันที หรือรอสังเกตอาการ ของสุนัข แมว ก่อน ควรพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ ประวัติการได้รับวัคซีนของสัตว์ พฤติกรรมและอาการของสัตว์ขณะที่กัด ความชุกของการเกิดโรคในพื้นที่ หากไม่มั่นใจ ควรให้การ ป้องกันทันที โดยเฉพาะเด็กหรือผู้ถูกกัดเป็นแผลฉกรรจ์ และสังเกตสัตว์เมื่อครบ 10 วัน ถ้าสุนัข แมว ยังมีอาการปกติอยู่ก็หยุด ไม่ต้องฉีดวัคซีนเข็มต่อไป
- การแพ้วัคซีน ส่วนใหญ่มีการแพ้เฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีด บางคนอาจมีอาการแพ้ทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง วิงเวียน บางคนอาจมีผื่นคันตามร่างกาย หรือลมพิษ แต่พบไม่บ่อย ในสหรัฐอเมริกา มีรายงาน 2 ราย เกิดอัมพาตของระบบประสาทแบบชั่วคราว (transient neuroparalytic illness) จาก HDCV คนที่ได้รับการฉีดกระตุ้นบ่อยๆ อาจมี hypersensitivity ได้ประมาณ 6เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 2-21 หลังได้รับ HDCV โดยมีอาการผื่นแพ้ (pruritic rash) ลมพิษ (urticaria) ปวดข้อ ข้ออักเสบ (angioedema) คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย แต่อาการเหล่านี้ทุเลาได้จากจากการให้ antihistamines น้อยรายที่ต้องให้ corticosteroids หรือ epinephrine HRIG ไม่มีอาการแพ้รุนแรง ปัจจุบัน ERIG ที่ใช้อยู่มีความบริสุทธิ์มาก มีอัตราแพ้เพียงประมาณ 1-6 เปอร์เซ็นต์ และอาการแพ้ไม่รุนแรง
- ให้การป้องกันอื่น ๆ เพราะแผลสุนัขหรือแมวกัด อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รวมทั้ง เชื้อบาดทะยัก จึงควรพิจารณาการให้วัคซีนบาดทะยักและยาต้านจุลชีพด้วย
การควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
1. การรายงานผู้ป่วย : โรคนี้เป็นโรคที่ต้องแจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
2. การแยกผู้ป่วย : ป้องกันการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย
3. การทำลายเชื้อ : น้ำลายและสิ่งที่ปนเปื้อนน้ำลายผู้ป่วยต้องนำไปฆ่าเชื้อ แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานการติดต่อจากการดูแลคนไข้แต่ผู้ดูแลคนไข้ควรสวมถุงมือเสื้อคลุมและสวมผ้าปิดปากจมูก
4. การกักกัน : ไม่จำเป็น
5. การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส : ผู้สัมผัสคนไข้ ถ้ามีแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุตา จมูก ปาก และสัมผัสน้ำลายผู้ป่วยควรได้รับวัคซีนด้วย
6. การสอบสวนผู้สัมผัสและแหล่งโรค : ค้นหาสัตว์ที่กัดและผู้ที่ถูกสัตว์กัด หรือสัตว์ที่ถูกกัด
7. การรักษาผู้ป่วย : ให้การรักษาตามอาการภายใต้การดูแลอย่างเข็มงวด
มาตรการเมื่อเกิดการระบาด
1. ประกาศเขตควบคุมการติดโรค ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่น และกฎหมาย สาธารณสุข
2. ฉีดวัคซีนสุนัขในพื้นที่เกิดโรค อาจจำเป็นต้องให้วัคซีนแก่สัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ด้วย
3. บังคับใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น การกำจัดสุนัขไม่มีเจ้าของ หรือ สุนัขไม่ได้รับวัคซีน การควบคุมจำนวนสุนัขโดยการตอน ทำหมัน และฉีดยาคุมกำเนิด ช่วยให้สามารถตัดวงจรการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิผล
สัญญาณภัยที่ควรระวัง
อาจเกิดปัญหาเมื่อมีการนำโรคเข้าสู่พื้นที่ปลอดโรคแล้ว หรือมีการระบาด ในพื้นที่ที่มีสุนัขจรจัด หรือสัตว์ป่าจำนวนมาก
มาตรการควบคุมระหว่างประเทศ
กวดขันให้ผู้นำสัตว์เข้ามา และนักท่องเที่ยว ปฏิบัติตามกฎหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศ ประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก
วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า [Rabies] เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยมากเกิดจากถูกสัตว์กัดหรือข่วน เชื้อจากน้ำลายของสัตว์เข้าได้ทางผิวหนังที่เป็นแผลเป็นหรือรอยขีดข่วนหรือทางเยื่อเมือกต่างๆ โดยมีอัตราการตายสูงมากหากรอจนเกิดอาการ จึงต้องป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนไว้ก่อนหากสงสัยว่าสัตว์ที่กัดอาจมีเชื้ออยู่ ระยะฟักตัวของหลังการได้รับเชื้อนานประมาณ 30-90 วัน โดยอาจมีอาการไม่จำเพาะนำมาก่อน 10 วัน แล้วจึงตามด้วยอาการของระบบประสาท เช่น อาการวุ่นวาย สับสน อาการเกร็งของกล้ามเนื้อคอทำให้กลืนน้ำลำบาก มีไข้ เวลาถูกลมจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้า ชัก และอัมพาตของกล้ามเนื้อต่างๆ และเสียชีวิต ระยะฟักตัวอาจจะสั้นเพียง 10 วันถ้าแผลนั้นอยู่บริเวณใบหน้า คอ แขน หลังถูกกัดเชื้อยังอยู่บริเวณแผลระยะหนึ่งก่อนซึ่งการให้ rabies immune globulin ที่บริเวณแผลอาจช่วยกำจัดเชื้อได้ เชื้อไวรัสจะเดินทางตามเส้นประสาท
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนเตรียมจากเชื้อไวรัสโดยการทำให้ตายไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้มีหลายชนิดดังนี้
1. Human Diploid-Cell Rabies Vaccine [HDCV] นำเชื้อไวรัสเลี้ยงใน human diploid cell และนำเชื้อมาแยกแอนติเจนมาใช้เป็นวัคซีน
2. Purified Check Embryo Cell Culture [PCEC] นำเชื้อไวรัสเลี้ยงยังตัวอ่อนของไก่ วัคซีนชนิดนี้อาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ และแอนติเจนจากเซลล์ลูกไก่ปนบ้างแต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
3. Rabies Vaccine Absorbed [RAV] นำเชื้อไปเลี้ยงยังเซลล์ตัวอ่อนของลิง วัคซีนชนิดนี้จะไม่ค่อยปนเปื้อน
4. Purified Duck Embryo Vacine [PDEV] เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสเลี้ยงในเซลล์ตัวอ่อนของเป็ด [duck embryo]
5. Purified Vero-Cell Vaccine [PVRV] เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสเลี้ยงใน vero cell
วัคซีนแต่ละชนิดมีประสิทธิ์ภาพใกล้เคียงกัน การเกิดอาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้ขึ้นกับกระบวนการแยกแอนติเจนRabies Immune Globulin [RIG] การให้วัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้องใช้เวลา ซึ่งอาจไม่ทันการณ์ในผู้ป่วยบางรายเช่น ถูกกัดบริเวณใบหน้า หรือคอ เป็นแผลลึก การให้ RIG ร่วมด้วยและให้ทันพบอัตราการตายน้อย ควรฉีด RIGพร้อมกับวัคซีนเข็มแรก ในขนาด 20 IU/นน.1กก ของ human RIG(เซรุ่มทำจากเลือดคน) หรือ 40 IU eguine RIG (เซรุ่มทำจากเลือดม้า) โดยครึ่งหนึ่งฉีดรอบแผล อีกครึ่งหนึ่งฉีดเข้ากล้าม หากไม่สามารถฉีด RIG พร้อมกับวัคซีน ก็สามารถฉีด RIG หลังวัคซีนได้ 7 วัน
การทำความสะอาดแผล
ควรทำความสะอาดบาดแผลที่ถูกกัดหรือถูกข่วนด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วเช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ 70% และใส่ยา povidone-iodine ขั้นตอนนี้สำคัญมากเพราะเป็นการลดจำนวนเชื้อ และควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก Postexposure Prophylaxis
- เป็นการฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัดควรฉีดให้เร็วที่สุด เข็มต่อไปฉีดวันที่ 3,7,14,28หลังจากเข็มแรก
- ผู้ที่ไม่เคยได้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน และแผลนั้นอันตรายให้ฉีด RIG ร่วมด้วยขนาด 20 iu/kg โดยครึ่งหนึ่งฉีดรอบแผล อีกครึ่งหนึ่งฉีดเข้ากล้ามบริเวณอื่น
- ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาและมีภูมิคุ้มกันดีให้ฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนอีก 2 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดทันที เข็มที่สองให้ฉีดหลังจากนั้น 3 วัน
- สตรีมีครรภ์และเด็กให้ฉีดเท่าผู้ใหญ่
- หากเป็นสัตว์เลี้ยง และอาการปกติให้สังเกตเป็นเวลา 10 วันถ้าเป็นปกติไม่น่าจะมีการติดเชื้อ
- สัตว์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าอาจจะแพร่เชื้อได้เหมือนกันถ้าวัคซีนที่ได้รับนั้นไม่มีประสิทธิภาพ โอกาสเสี่ยงที่สุนัขจะมีการติดเชื้อจะลดลงมากหากสุนัขสุขภาพสมบูรณ์และมีประวัติแน่ชัดว่าได้รับการฉีดที่มีประสิทธิภาพดีมาแล้วอย่างน้อย 2ครั้งในกรณีที่ถูกสุนัขดังกล่าวกัดให้สังเกตอาการของสุนัขประมาณ10วันโดยยังไม่ต้องรักษาถ้าสุนัขแสดงอาการป่วยให้รีบรักษาทันที
- หากเป็นสัตว์ป่าควรจะฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
อาการข้างเคียง ผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีอาการปวด บวม แดง และคันบริเวณที่ฉีด