เลขที่ 333 หมุ่ 2 ต.สบปราบ อ.สบปราบ ลำปาง,
52170

054-296085, 054-296252 Fax 054-296253
sobprabhospital@hotmail.com

โรคไข้สมองอักเสบ (West Nile)

โรคไข้สมองอักเสบ (West Nile)

โรค West Nile เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการสมองอักเสบ มียุงเป็นแมลงนำโรคและมีนกเป็นแหล่งรังโรค นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อได้ในสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด เช่น ม้า แมว ค้างคาว กระรอก กระต่าย และคน 

สาเหตุ 
เกิดจากเชื้อไวรัส Arbovirus จัดอยู่ใน family Flaviviridae มียุงหลายชนิดเป็นแมลงนำโรค ได้แก่ Culex., Aedes., Anophele.,s Ochlerotatus. เป็นต้น แต่จะพบมากในยุงสกุล Culex 

วิธีการติดต่อ 
การถ่ายทอดเชื้อ West Nile Virus (WNV) โดยธรรมชาติจะเกิดขึ้นระหว่างนก (เป็น non-human primary vertebrate host) และยุง (เป็น primary arthropod vector) ยุงเมื่อไปดูดเลือดนกที่มีเชื้อ WNV เชื้อ WNV จะเข้าไปเพิ่มจำนวนในยุง เมื่อยุงไปกัดนก นกตัวนั้นก็จะติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยและตายได้ วงจรการถ่ายทอดเชื้อไวรัสจะวนเวียนอยู่ระหว่างนกกับยุงเช่นนี้ จนกว่าเมื่อมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ม้า คน บังเอิญมาอยู่ใกล้ชิดกับยุง เมื่อยุงกัดม้าหรือคน เชื้อ WNV จะถูกถ่ายทอดให้กับม้าหรือคน ทำให้ม้าหรือคนป่วย แต่คนและม้าจะไม่มีการถ่ายทอดเชื้อต่อไปอีก ดังนั้น ม้าหรือคนจึงเป็น accidental host หรือ dead-end host และยังไม่พบหลักฐานว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่สัตว์ 

ระยะฟักตัว ประมาณ 3- 15 วัน 

อาการและอาการแสดง 
อาการโดยทั่วไปคือ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีผื่นแดงที่ผิวหนัง ผู้ติดเชื้อส่วนมากไม่มีอาการ ผู้ป่วยจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 อาจมีอาการรุนแรง เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ไข้สูง คอแข็ง มีอาการมือสั่น ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต ซึมลง สับสน หมดสติ จนกระทั่งอาจเสียชีวิต 

ระบาดวิทยาของโรค 
โรค West Nile เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศ Uganda ทวีปแอฟริกา เมื่อปี พ.ศ. 2480 จากนั้นโรคได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันตก และเอเชียกลาง พบเป็นสาเหตุการระบาดของไข้สมองอักเสบในคนที่ประเทศอิสราเอล ในปีพ.ศ. 2500 สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ถือโรค West Nile เป็นโรคอุบัติใหม่ (Emerging disease) ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 

ในเขตอบอุ่นของโลก West Nile Encephalitis มักเกิดช่วงปลายฤดูร้อนหรือต้นฤดูใบไม้ร่วง ในเขตร้อน เชื้อจะมีการกระจายตลอดปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตนั้นจะมีอายุมากกว่า 50 ปี โดยจะมีอัตราป่วยตาย ร้อยละ 3-15 ในบุคคลทั่วไปน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่จะมีอาการรุนแรง 

สำหรับประเทศไทยมียุงที่เป็นชนิดเดียวกับยุงพาหะของ WNV ในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ 4 ชนิด คือ Ae. albopictus, Ae. vexans, Cx. pipiens และ Cx. quinquefasciatus ยุงเหล่านี้จะนำเชื้อ WNV และมีความสามารถในการเป็นพาหะได้หรือไม่ จะต้องมีการศึกษา สำรวจ และทดสอบทั้งในภาคสนามและในห้องปฏิบัติการ โรค West Nile เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับพาหะ และแหล่งรังโรค การเฝ้าระวังหรือการสังเกตติดตามการเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำกัดอยู่ในคนเท่านั้น ควรดำเนินการเฝ้าระวังในสิ่งต่างๆ ดังนี้

1.     เฝ้าระวังผู้ป่วยในกลุ่มอาการ encephalitis

2.     เฝ้าระวังสัตว์ที่มีอาการป่วยทางระบบประสาท โดยเน้นที่ม้า ซึ่งจะพบการติดเชื้อ WNV ได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น

3.     เฝ้าระวังการตายของนก โดยเฉพาะนกกา ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่ไวในการบอกการระบาดในพื้นที่

4.     เฝ้าระวังยุงพาหะ เพื่อติดตาม WNV ในยุง และเพื่อค้นหาชนิดของยุงพาหะในพื้นที่นั้น

การรักษา 
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะและยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค ให้การรักษาตามอาการและวิธีประคับประคองทั่วไป และระวังโรคแทรกซ้อน เช่น pneumonia และ urinary tract infection

 

2024 © Sopprab Hospital All Rights Reserved.