เลขที่ 333 หมุ่ 2 ต.สบปราบ อ.สบปราบ ลำปาง,
52170

054-296085, 054-296252 Fax 054-296253
sobprabhospital@hotmail.com

โรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ

 

สาเหตุการเกิดโรค

การเลือกรับประทานอาหารนับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันเนื่องจากมีแบคทีเรีย หรือสารพิษต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อาหาร อากาศ ซึ่งแบคทีเรียหรือสารพิษเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าไม่รีบพามาพบแพทย์

 

นอกจากนี้อาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ จากเนื้อสัตว์ อาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ปนเปื้อนเชื้อหรือหมดอายุ อาหารค้างมื้อและไม่ได้แช่เย็น ถ้าไม่อุ่นให้เดือดทั่วถึงก่อนการรับประทาน ก็อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้

 

อาการของโรค

อาหารเป็นพิษมักเกิดอาการตั้งแต่ หนึ่งชั่วโมงจนถึง 8 วันหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป มักจะพบว่าในหมู่คนที่กินอาหารร่วมกันมักจะมีอาการพร้อมกันหลายคน ซึ่งอาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปแล้งแต่ละบุคคลและปริมาณที่กิน อาการที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการ ไข้ เบื่ออาหาร อุจจาระร่วง มีตั้งแต่อาการอย่างอ่อนจนถึงรุนแรง อาจถ่ายมีมูกปนเลือดได้

 

รู้จักอาหาร

วิธีสังเกตุและป้องกันตนเองจากอาหารที่อาจเป็นต้นเหตุของโรคอาหารเป็นพิษโดยแยกประเภทดังนี้

 

อาหารประเภทแป้ง

ได้แก่ข้าวผัด ขนมจีน ขนมปัง ขนมเอแคร์ ฯลฯเป็นต้น ที่ปรุงทิ้งไว้นานหรือหมดอายุอาจจะมีสารพิษจากเชิ้อแสตปฟิลโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และแบซิลลัส ซีเรียส(Bacillus cereus) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ

 

การป้องกัน

 

ขนมจีน ควรนึ่งก่อนรับประทาน

ขนมปัง ขนมเอแคร์และเบเกอรี่ต่างๆ ควรเลือกรับประทานใหม่ๆ ไม่หมดอายุ ไม่มีรา

ควรเก็บอาหารที่ยังไม่รับประทานไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส

ข้าวกล่องและอาหารที่เตรียมสำหรับคนหมู่มาก เช่น อาหารกลางวันสำหรับนักเรียน อาหารบุ๊พเฟ่ งานเลี้ยงไม่ควรเตรียมไว้ข้ามมื้อ

ควรเน้นความสะอาดเวลาปรุงและเลือกรายการอาหารที่ไม่บูดง่าย ข้าวผัดปูควรนึ่งปูเพื่อฆ่าเชื้ออีกครั้ง ก่อนใส่ในข้าวผัด

อาหารทะเล

เช่น ปลาหมึก กุ้ง หอย ปู ปลา ที่เตรียมไม่สะอาด ปรุงไม่สุกหรือสุกไม่ทั่วถึง อาจมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดเช่น เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส(Vibrio parahaemolyticus) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ

 

การป้องกัน

 

อาหารทะเลควรเลือกซื้อที่สดและสะอาด

รับประทานอาหารทะเลที่มั่นใจปรุงสุข

หอยแมลงภู่ควรดึงเส้นใยออกก่อนรับประทาน

ปูเค็ม ปูดอง หอยแครงควรทำให้สุกก่อนรับประทาน

ไม่ควรวางอาหารที่ปรุงสุกปะปนกับอาหารดิบ

อาหารประเภทเนื้อสัตว์

ได้แก่อาหารประเภทเนื้อสัตย์ทุกชนิดเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เครื่องในสัตย์ รวมทั้งนม และไข่ ซึ่งมักปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดเช่น(Vibrio cholerae),ซัลโมเนลลา(Salmonella), เอนเทอโรพาโทเจนนิค เอสเซอริเซียโคไล (Enteropathogenic E coli),แคมฟิลโลแบคเตอร์ (Campylobacter) และเยอชิเนีย เอนเทอโรโคไลติคา (Yersinia enterlocolitica)

 

การป้องกัน

 

ควรแยกเขียงที่ใช้กับอาหารดิบและสุก

เลือกซื้อเนื้อ นม และไข่สดและสะอาด

หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสอาหารโดยตรง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อลง ในอาหาร ทั้งนี้รวมทั้งผู้จำหน่าย ผู้ปรุงและผู้บริโภค

ผู้จำหน่ายเนื้อสัตย์ ควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาด มีด เขียง ที่วางเนื้อสัตว์จำหน่าย

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อที่สุกๆดิบ เช่นลาบ,ก้อย

น้ำดื่ม

หากบริโภคน้ำ หรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาดและปลอดภัยเพียงพออาจทำให้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ปนเปื้อนได้

 

การป้องกัน

 

ดื่มน้ำต้มสุก

ควรบริโภคน้ำหรือเครื่องดื่มที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เลือกรับประทานน้ำที่สะอาดไม่มีตะกอน

ไม่ควรดื่มน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงที่ยังไม่ผ่านการบำบัด

ผักและผลไม้

อาจมีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่ หรืออาจมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและ/หรือไข่พยาธิปนอยู่ เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษที่บริโภคไม่ได้

 

การป้องกัน

 

เลือกซื้อผัก ผลไม้ที่สดสะอาด ปลอดสารเคมีและยาฆ่าแมลง

ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด คลี่ใบล้างผ่านน้ำให้สะอาดหลายๆครั้ง

หลีกเลี่ยงการรับประทานผักดิบ

เลือกซื้อและรับประรับประทานเห็ดที่ไม่เป็นพิษและเห็ดที่รู้จักจริง เท่านั้น

อาหารกระป๋อง

อาทิปลากระป๋อง ผักกระป๋อง แกงกระป๋อง หรือผลไม้กระป๋องที่เก็บไว้นานๆ จนเป็นสนิมหรือกระป๋องบุบ หากนำมาปรุงรับประทานอาจทำให้ป่วยด้วยโรคคลอสทริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens ) และคลอสทริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum )

 

การป้องกัน

 

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกระป๋องที่หมดอายุหรือกระป๋องเป็นสนิม บุบบวมหรือโป่งพองออกมา

เลือกซื้ออาหารที่บรรจุในกระป๋องที่สภาพดีควรดูวันหมดอายุทุกครั้งก่อนนำมารับประทาน

อุ่นอาหารให้เดือดที่ 100องศาเซลเซียสนาน 10 นาที เพื่อทำลายสารพิษ หรือที่ 120องศาเซลเซียสนาน 10นาที เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อ

รักษาอาการเบื้องต้น

ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ มักมีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่นการรักษาตามอาการ คือ ¡ ถ้าผู้ป่วยยังพอรับประทานได้ ควรให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ¡ ถ้าอาเจียนมาก รับประทานไม่ได้ ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ ควรนำส่งโรงพยาบาล

2024 © Sopprab Hospital All Rights Reserved.